top of page

ศิลปกรรม (อ่านว่า สิน-ละ-ปะ-กัม) มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ว่า สิ่งที่เป็นศิลปะ, สิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นศิลปะ ศิลปกรรม มีความหมายตรงกับวลีภาษาอังกฤษว่า "work of art" และคำภาษาอังกฤษว่า "art"

ความหมาย

สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานได้กำหนดคุณสมบัติของสิ่งที่นับได้ว่าเป็น "ศิลปกรรม" ไว้ดังนี้

  1. ศิลปกรรม เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่เองตามธรรมชาติ เช่นพระอาทิตย์ตกดินที่มีความสวยงามมากไม่นับเป็นศิลปกรรม แต่จิตรกรรมหรือภาพเขียนทิวทัศน์พระอาทิตย์นับเป็นศิลปกรรม

  2. ศิลปกรรม เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นให้มีความสวยงาม สิ่งมนุษย์สร้างที่ไม่สวยงาม เช่น กองขยะ ป้ายโฆษณารกตา ฯลฯ ไม่นับเป็นศิลปกรรม การสร้างสรรค์โดยมนุษย์เพื่อความงามหรือสุนทรียภาพที่ถือเป็นศิลปกรรมแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทดังนี้

    1. ศิลปกรรมประเภทวิจิตรศิลป์ (fine arts) หมายถึงศิลปกรรมที่มนุษย์ทำขึ้นเพื่อความปีติชื่นชมในตัวชิ้นงาน เช่น งานจิตรกรรม ประติมากรรม กวีนิพนธ์และงานดุริยางคศิลป์

    2. ศิลปกรรมประเภทประโยชน์ศิลป์ (useful art หรือ applied art) หมายถึงศิลปกรรมที่มีประโยชน์ใช้สอยด้วย เช่นงานจักสาน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องแก้ว เครื่องเรือนและสิ่งใช้สอยต่างๆ ที่มีการบรรจงสร้างขึ้นโดยประณีต ทั้งที่สร้างด้วยมือ (ศิลปหัตถกรรม)และโดยเครื่องจักร (ศิลปหัตถอุตสาหกรรม)

  3. ศิลปกรรม เป็นงานประเภททัศนศิลป์ (visual art) เป็นความหมายที่ใช้กันมาในช่วงศตวรรษก่อน ซึ่งมักหมายเฉพาะงานประเภท จิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ส่วนศิลปะที่เป็นการแสดงจะจัดแยกไว้ต่างหาก เชน การแสดงนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ไม่นิยมรวมไว้ในงานแสดงศิลปกรรม

  4. ศิลปกรรม เป็นผลงานสร้างสรรค์ทางสุนทรียะเฉพาะที่มีคุณภาพดี เป็นการกำหนดความหมาย "ศิลปกรรม" ให้แคบและเฉพาะมากขึ้น มีการแยกงาน "ศิลป์" ที่ไม่ถึงขั้นออกไปด้วยเกณฑ์ต่างๆ ที่ยังเป็นที่ถกเถียงในหมู่ผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะ

bottom of page